ปลาการ์ตูน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาการ์ตูน | |
---|---|
ปลาการ์ตูนส้มขาว (Amphiprion ocellaris) เป็นปลาการ์ตูนที่เป็นที่คุ้นเคยและพบเจอได้บ่อยที่สุดในทะเล | |
ปลาการ์ตูนแดง (Premnas biaculeatus) เป็นปลาการ์ตูนเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Premnas | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Perciformes |
วงศ์: | Pomacentridae |
วงศ์ย่อย: | Amphiprioninae |
สกุล | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของปลาการ์ตูน | |
ชื่อพ้อง | |
เนื้อหา |
[แก้] ลักษณะ
เป็นปลามีสีสันสวยงาม โดยทั่วไปประกอบด้วยสีส้ม, แดง, ดำ, เหลือง และมีสีขาวพาดกลางลำตัว 1-3 แถบ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นชนิดเดียวกัน ก็จะมีสีแตกต่างกันเล็กน้อยเสมอ ซึ่งความแตกต่างนี้ทำให้จดจำคู่ได้ นอกจากนั้น แหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันทำให้เกิดการแปรผันด้วย ปลาการ์ตูนอยู่กันเป็นครอบครัว กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เป็นปลาที่หวงถิ่นมาก มีเขตที่อยู่ของตนเอง[แก้] การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
พบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในบริเวณเส้นศูนย์สูตรทั่วโลก อาศัยอยู่ตามแนวปะการังกับดอกไม้ทะเล[แก้] อนุกรมวิธาน
ปลาการ์ตูนแบ่งออกได้เป็น 2 สกุล คือ Amphiprion และ Premnas ซึ่งมีอยู่เพียงชนิดเดียว- สกุล Amphiprion:[1]
- Amphiprion akallopisos – ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง
- Amphiprion akindynos
- Amphiprion allardi
- Amphiprion barberi
- Amphiprion bicinctus
- Amphiprion chagosensis
- Amphiprion chrysogaster
- Amphiprion chrysopterus
- Amphiprion clarkii – ปลาการ์ตูนลายปล้อง
- Amphiprion ephippium
- Amphiprion frenatus – ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ
- Amphiprion fuscocaudatus
- Amphiprion latezonatus
- Amphiprion latifasciatus – ปลาการ์ตูนมาดากัสการ์
- Amphiprion leucokranos
- Amphiprion mccullochi
- Amphiprion melanopus
- Amphiprion nigripes
- Amphiprion ocellaris – ปลาการ์ตูนส้มขาว
- Amphiprion omanensis
- Amphiprion pacificus – ปลาการ์ตูนแปซิฟิก
- Amphiprion percula – ปลาการ์ตูนส้ม
- Amphiprion perideraion
- Amphiprion polymnus – ปลาการ์ตูนอานม้า
- Amphiprion rubacinctus
- Amphiprion sandaracinos – ปลาการ์ตูนเหลือง
- Amphiprion sebae – ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง
- Amphiprion thiellei
- Amphiprion tricinctus
- สกุล Premnas:[1]
- Premnas biaculeatus – ปลาการ์ตูนแดง
[แก้] พฤติกรรม
ปลาการ์ตูนออกลูกเป็นไข่และสามารถเปลี่ยนเพศได้ ปลาการ์ตูนจะเปลี่ยนเพศเมื่อสิ่งแวดล้อมกำหนดบทบาทให้ โดยในระยะแรกเริ่มหลังจากที่ฟักออกจากไข่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นเพศใด จนกว่าจะเป็นตัวเต็มวัยจึงจะปรากฏเป็นปลาเพศผู้ และในปลารุ่นเดียวกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นปลาเพศเมีย โดยในสังคมของปลาการ์ตูนกลุ่มหนึ่ง ๆ จะมีปลาเพศเมียเพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัวใหญ่ที่สุดในฝูง สีสันไม่สดใสมากนัก พฤติกรรมก้าวร้าว ส่วนปลาเพศผู้มีขนาดเล็กกว่า สีสันสวยงามกว่า จากปลาเพศผู้ เมื่อมีสิ่งเร้าจากภายนอกและภายในเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เทเลนฟาลอน (Telenephalon) จะส่งสัญญาณมาที่ทาลามัส (Thalamus) และไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศผู้ อวัยวะเป้าหมายส่วนที่ จะพัฒนาจนสามารถทำงานได้คืออัณฑะผลิตสเปิร์ม ส่วนตัวที่ใหญ่ ที่สุดจะมีพัฒนาการตรงกันข้าม ไฮโปธาลามัสจะส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศเมีย อวัยวะเป้าหมายคือรังไข่ ผลิตไข่ และถ้าเพศเมียตายไป ปลาการ์ตูนเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แข็งแกร่งที่สุด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพศทดแทนด้วยกลไกแบบหลังภายใน 4 สัปดาห์ โดยจะเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว พร้อมสีสันสวยน้อยลงและจากการศึกษาพบว่า ปลาการ์ตูนมีระบบชนชั้นภายในฝูง โดยตำแหน่งหัวหน้าฝูงจะเป็น ปลาเพศเมียตัวที่ใหญ่ที่สุด และลดหลั่นกันไปจนถึงตัวที่มีขนาดเล็กที่สุด อีกทั้งยังพบด้วยว่า แม้ว่าปลาการ์ตูนจะถือกำเนิดห่างไกลจากที่กำเนิดเท่าใด เมื่อเจริญเติบโตขึ้นหรือถึงฤดูผสมพันธุ์วางไข่ จะว่ายฝ่ากระแสน้ำกลับมาวางไข่ยังบริเวณเดิมที่กำเนิด โดยอาศัยการดมกลิ่นจากกลิ่นของพืชที่อยู่บริเวณนั้น ซึ่งปลาจะมีความจดจำลักษณะเฉพาะของกลิ่นได้[3]
[แก้] ความสัมพันธ์กับดอกไม้ทะเล
ปลาการ์ตูนเป็นปลาที่มีลักษณะเฉพาะ คือ จะอาศัยอยู่ภายในดอกไม้ทะเลซึ่งมีเข็มพิษ แต่ไม่เป็นอันตรายกับปลาการ์ตูน เพื่อป้องกันตัว เป็นพฤติกรรมที่สัตว์ทั้งสองพึ่งพากัน ดอกไม้ทะเลมีหนวดยาวมากมายพลิ้วไหวไปตามกระแสน้ำ ส่วนร่างยึดติดกับโขดหินหรือปะการังเอาไว้ หนวดที่อ่อนนุ่มเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้หาอาหาร บริเวณปลายหนวดเต็มไปด้วยเข็มพิษจำนวนมหาศาล เมื่อมีปลาว่ายหลงผ่านมา ดอกไม้ทะเลจะใช้หนวดพิษทิ่มแทงเหยื่อให้เป็นอัมพาต แล้วใช้หนวดจับเข้าปาก จึงไม่มีปลาอื่นกล้าว่ายเข้าใกล้ดอกไม้ทะเล ยกเว้นเพียงปลาการ์ตูน ที่เที่ยวว่ายหากินสาหร่ายเล็ก ๆ อยู่รอบ ๆ ครั้นมีศัตรูมารบกวน มันจะรีบว่ายเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในกอดอกไม้ทะเลอันที่จริงแล้วปลาการ์ตูนก็ได้รับพิษเช่นกัน แต่รู้จักปรับตัวโดยใช้วิธีว่ายเข้าไปสัมผัสกับดอกไม้ทะเลทีละน้อย ๆ แล้วถอยออกมา ทำอยู่จนกระทั่งร่างกายสร้างเมือกขึ้นมาปกคลุมตัว ช่วยป้องกันเข็มพิษดอกไม้ทะเลได้ในที่สุด แต่ถ้าปลาการ์ตูนปราศจากเมือกอันนี้เมื่อใด ปลาก็จะถูกเข็มพิษของดอกไม้ทะเลทำร้าย จนตายในที่สุด
[แก้] การเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและการเพาะพันธุ์
ปลาการ์ตูนเป็นปลาทะเลที่เป็นนิยมอย่างมากในการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากภาพยนตร์การ์ตูนของวอลต์ ดีสนีย์ เรื่อง Finding Nemo ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 2003 แล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้ความนิยมในปลาการ์ตูนเพิ่มขึ้นสูง โดยเฉพาะในหมู่เด็ก ๆ ซึ่งการได้มาของปลาการ์ตูนจะต้องไปจับจากในทะเล ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการสูญพันธุ์ในธรรมชาติ และกระทบถึงสภาพแวดล้อมด้วย ซึ่งผู้จับจะใช้ตาข่ายหรือสวิงช้อนตัวปลาขึ้นมาใส่ไว้ในกล่องพลาสติกกล่องละตัว เพื่อป้องกันปลาต่อสู้กันที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็นแผลได้ ปลาที่อ่อนแอหรือไม่สมบูรณ์พร้อม จะถูกคัดทิ้ง [3]ปัจจุบันได้มีการเพาะพันธุ์ได้ตามศูนย์วิจัยต่าง ๆ ของกรมประมง หรือฟาร์มของเอกชนทั่วไปเพื่อจำหน่าย โดยสถานที่แห่งแรกที่เพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนได้สำเร็จและถือเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ของประเทศไทย ที่นำโดย ดร.วรเทพ มุธุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบัน โดยใช้วิธีการให้ปลาวางไข่กับแผ่นกระเบื้องเซรามิกในตู้เลียนแบบธรรมชาติ นับว่าได้ผลสำเร็จดี ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังคงวิจัยศึกษาและพัฒนาการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ให้ได้ผลดียิ่งขึ้นต่อไป [3]
[แก้] การนำปลาที่เพาะพันธุ์ได้ไปปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ลูกปลาการ์ตูนบางส่วนที่หน่วยงานกรมประมงเพาะพันธุ์ได้ จะถูกนำไปปล่อยคืนในแหล่งน้ำธรรมชาติที่เหมาะสมซึ่งปลาการ์ตูนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยการปล่อยปลาการ์ตูน จะต้องมีการปรับสภาพให้ปลามีคุ้ยเคยกับแหล่งที่จะปล่อยปลาการ์ตูนเหล่านั้น เพื่อให้รอดพ้นจากกการถูกทำร้ายจากสัตว์น้ำชนิดอื่น และดำรงชีวิตต่อไปได้[4][แก้] อ้างอิง
- ^ 1.0 1.1 Froese, Rainer, and Daniel Pauly, eds. (2011). Species of Amphiprion in FishBase. December 2011 version.
- ^ รู้หรือไม่รู้ ดอกไม้ของนายนีโม่
- ^ 3.0 3.1 3.2 ปลาดารา (Filmstar Fish: The Struggle for Survival), รายการท่องโลกกว้าง ทางไทยพีบีเอส: วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554
- ^ การนำปลาที่เพาะพันธุ์ได้ไปปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ